Talk กับ Yoshitomo Nara






ถ้าพูดถึงศิลปิน (artist) ชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ชื่อแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงน่าจะหนีไม่พ้นชื่อของ โยชิโตโม นาระ (Yoshitomo Nara) เจ้าของผลงานภาพเด็กผู้หญิงที่ทั้งน่ารักและดูเกรี้ยวกราดไปพร้อม ๆ กัน

ก่อนหน้านี้คุณนาระเคยมาแสดงงานที่บ้านเราแล้วหลายครั้ง (ที่จัดแสดงนานหน่อย คือน้องหมา Phuket Dog ที่เขาสร้างเพื่อให้กำลังใจชาวเมืองภูเก็ตหลังเหตุการณ์สึนามิ) และเดือนตุลาคมปีนี้เขาจะกลับมาอีกครั้งพร้อมผลงาน (ที่จะสั่นสะเทือนกรุงเทพฯ) ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale 2018) ร่วมกับศิลปินที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย


เพื่อเรียกน้ำย่อยกันก่อน เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ทางผู้จัดงานเลยเชิญคุณนาระมาบรรยายในงาน BAB Talk ครั้งที่ 5 และเราเป็นหนึ่งในผู้โชคดีที่ได้เข้าไปนั่งฟังด้วย...หลังจากติดตามแต่ผลงานคุณนาระมากว่า 10 ปี เคยแต่ไปดูนิทรรศการที่นู่นที่นี่ เคยแต่อ่านสัมภาษณ์ในหนังสือ การได้ไปนั่งฟังศิลปินตัวเป็น ๆ บรรยายเองเต็ม ๆ กว่า 2 ชั่วโมงแบบนี้ ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ (ซึ่งแน่นอน มันฟินมาก!) ต้องขอขอบคุณผู้จัดงานนี้ด้วยที่ทำให้การเป็น ‘ติ่ง’  ของคุณนาระนั้น สมบูรณ์ยิ่งขึ้น (ฮา)


เนื้อหาของการบรรยายคราวนี้ทำให้เราได้รู้ทั้งเรื่องส่วนตัว (ได้เห็นกระทั่งผ้าอ้อมลายน้องหมาที่เขาเคยใช้!) ได้รู้ทั้งเรื่องการทำงาน (ได้เห็นภาพผลงานตั้งแต่ชิ้นแรก ๆ) และยังได้สัมผัสตัวตนที่มีอารมณ์ขัน เรียบง่าย (แต่แอบเข้าใจยาก) ของศิลปินที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ปี ก็ยังดูวัยรุ่นและมีพลังเสมอคนนี้อีกด้วย



เรียนศิลปะ...ทั้งที่ไม่เคยคิดที่จะเรียนมาก่อน

โยชิโตโม นาระ เป็นชาวเมืองฮิโรซากิ ในจังหวัดอาโอโมริที่อยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น เขาเติบโตในชนบท ใกล้ชิดธรรมชาติ ป่าเขา และสัตว์มากมาย (มีกระทั่งหมี!)  เมืองฮิโรซากิจะมีงานประจำปีคือเทศกาลเนบุตะ เป็นงานใหญ่ที่ชาวเมืองจะช่วยกันทำหุ่นโคมไฟกระดาษขนาดยักษ์เพื่อร่วมขบวนแห่...ซึ่งถ้าไม่มีงานเทศกาลนี้ อาจจะไม่มีศิลปินชื่อ โยชิโตโม นาระ ก็เป็นได้

ตอนที่คุณนาระเรียนอยู่ ม. 5 เขาไม่เคยคิดว่าจะเรียนศิลปะมาก่อน และยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นอะไร (งานพิเศษของเขาตอนนั้นคือเป็นดีเจเปิดเพลงในร้านกาแฟแบบร็อก ๆ) แต่เมื่อถึงคราวต้องช่วยกันทำหุ่นโคมไฟสำหรับงานเนบุตะ เพื่อน ๆ ในโรงเรียนพากันโหวตให้เขาเป็นคนวาดภาพบนโคมไฟ เพราะจำได้ว่าตอนเรียนประถมเขาวาดรูปเก่ง คุณนาระเลยต้องรับหน้าที่นี้ โดยขยายภาพจากตัวอย่างขนาดเท่าโปสการ์ด ให้เป็นภาพขนาด 2 เมตรด้วยพู่กัน  ซึ่งผลงานก็ออกมาสวยงาม และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณนาระกลับมาคิดว่า หรือตัวเองควรจะเรียนทางวาดรูป เพราะอาจจะเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะได้โดยไม่ต้องตั้งใจมาก

ซึ่งหลังจากจบม.ปลาย เขาก็เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยศิลปะได้ตามที่คิดจริง ๆ!



เรียนศิลปะ...แต่ไม่เคยคิดจะทำงานเกี่ยวกับศิลปะ

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น คุณนาระยอมรับว่าไม่ตั้งใจเรียน ในขณะที่เพื่อน ๆ ตั้งใจวาดรูปอยู่ที่มหาวิทยาลัยนั้น เขากลับเลือกไปดูการแสดงคอนเสิร์ต นิทรรศการ งานแสดงต่าง ๆ รวมถึงอยากทำอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น ด้วยการทำงานหาเลี้ยงตัวเอง อย่างการทำงานพิเศษที่บริษัทจัดสวนกับร้านขายแผ่นเสียง ซึ่งเขาคิดว่าประสบการณ์ในตอนนั้นได้ช่วยซัพพอร์ตตัวเขาที่กำลังทำงานศิลปะในตอนนี้

และเพราะไม่ได้คิดว่าจะทำงานเกี่ยวกับศิลปะ พอเรียนจบเขาเลยเลือกทำงานพิเศษเป็นติวเตอร์ที่โรงเรียนสอนศิลปะ แต่การที่มีคนมาเรียกว่า ‘เซนเซ’ (อาจารย์) ทำให้เขาคิดว่าต้องตั้งใจเรียนอีกนิด เลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศเยอรมัน



เรียนศิลปะ...แต่ไม่ได้อยากเป็นศิลปิน (artist)
ศิลปินไม่ได้เป็นสิ่งแรกที่อยากจะทำ ไม่ได้คิดว่าอยากเป็นศิลปินแล้วก็มาเป็น 
คุณนาระไม่เคยทำพอร์ตเพื่อเสนองานให้แกลเลอรี่ต่าง ๆ เพราะไม่ได้คิดว่าจะเอางานตัวเองไปแสดง หรือเอางานไปขายเพื่อจะเอาเงินมาใช้ชีวิต แต่จากการจัดแสดงในงานประจำปีของมหาวิทยาลัยที่เยอรมัน ทำให้มีแกลเลอรี่ติดต่อมา และเริ่มมีคนเรียกเขาว่าเป็นศิลปิน เป็นคนเขียนรูป แต่ตัวเขาเองในตอนนั้นจะเขียนอาชีพว่าเป็น ‘นักศึกษา’  และตอนนี้ เขาก็ยังเลือกเขียนอาชีพตัวเองว่าเป็น ‘Business owner’  แทนที่จะเป็น ‘ศิลปิน’  เพราะเขาบอกว่าคำนี้ “ไม่ใช่คำที่รู้สึกดีเท่าไหร่”



ตอนนี้ทำงานศิลปะ...แต่นั่นไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด

คุณนาระ บอกว่าศิลปะเป็นเพียง 10 % จากตัวตนทั้งหมดของเขาเท่านั้น สิ่งที่เขาชอบมาก ๆ คือการท่องเที่ยว การไปดูสิ่งต่าง ๆ และการเข้าไปอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งส่วนที่นอกเหนือจากการทำงานศิลปะนั้น จะคอยเกื้อกูล 10% ที่ทำงานศิลปะอีกที



Reference ในการทำงานศิลปะ...ที่ไม่เกี่ยวกับศิลปะ

เมื่อถูกถามว่าอะไรคือ reference ในการสร้างผลงาน คุณนาระบอกว่าไม่เกี่ยวกับศิลปะตรง ๆ (เช่น คนวาดรูปแมว ที่จะมีรูปแมวเป็น reference) แต่ reference ของเขาจะเป็นซีดีเพลง (ไล่มาตั้งแต่ยุค 60) หนังสือภาพ หนังสืออ่าน หนัง...หลายชิ้นเกี่ยวกับผลกระทบจากสงครามต่าง ๆ ทั้งสงครามโลก สงครามในเวียดนาม เกาหลี กัมพูชา  ฯลฯ และเรื่องของเด็ก ๆ ซึ่งเขาจะนำประสบการณ์และสิ่งที่นึกคิดได้จากตรงนี้ มาทำงานอีกที
สิ่งที่สำคัญไม่ใช่รูปงานที่เสร็จออกมาในตอนสุดท้าย สิ่งที่สำคัญคือความคิดในการทำงาน เวลาที่ฟังซีดี อ่านหนังสือ ความคิดที่เข้ามาจากตรงนั้น และกระบวนการในการคิดกลั่นกรองในตอนนั้นสำคัญกว่า 
เบื้องหลังภาพวาดเด็ก ๆ ของ โยชิโตโม นาระ ที่ดูเหมือนจะเป็นลายเส้นง่าย ๆ นั้น มาจากแนวคิดที่ไม่ง่ายเลยจริง ๆ



เป็นมือสมัครเล่น...ไม่ใช่มืออาชีพ

เมื่อพูดถึงขั้นตอนในการทำงาน ศิลปินที่เป็นมือโปรและประกอบอาชีพด้วยการขายภาพวาด ส่วนใหญ่จะมีตารางชัดเจน และรู้ว่าภาพหนึ่งจะใช้เวลาทำกี่วัน แต่คุณนาระบอกว่าตัวเองไม่มีความมืออาชีพแบบนั้น เขาเป็นมือสมัครเล่น แต่ละจะรูปของเขาใช้เวลาไม่เท่ากัน และมีขั้นตอนการวาดไม่เหมือนกันด้วย



วาดโดยไม่คิดล่วงหน้า

เมื่อมาดูวิธีการทำงานของเขาแล้ว เราจะเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมเขาถึงกะระยะเวลาในการทำงานไม่ได้

ก่อนที่จะวาดบนผ้าใบหรือกระดาษที่มีขนาดใหญ่ ศิลปินบางคนอาจจะวางแผนล่วงหน้า หรือแม้แต่สเกตช์ภาพลงสมุดก่อน แต่คุณนาระไม่ถนัดกับวิธีนี้ (เขาบอกว่าขี้เกียจ 555)
สิ่งที่วาดโดยไม่ได้คิด สิ่งที่เป็นธรรมชาติออกมาจากตัวเอง ค่อนข้างจะมีเยอะในงาน ไม่รู้ว่ากลายเป็นแบบนี้ได้ยังไง”  
ตอนเริ่มต้นเขาบอกว่าจะยังไม่ได้คิดว่าจะวาดอะไร แต่จะวาดไปเรื่อย ๆ จนค่อย ๆ เห็นว่าภาพจะเป็นแบบไหน บ่อยครั้งวาดไปเกือบเสร็จแล้วถึงคิดได้ว่าควรเปลี่ยนอะไรบางอย่าง จนต้องบ่นกับตัวเองว่า “ทำไมไม่รู้ตัวให้เร็วกว่านี้” ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ภาพแรกตอนเริ่มวาดกับภาพตอนสุดท้ายของเขาจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเขาเองก็บอกว่าเวลาได้ภาพสุดท้ายที่ต่างออกไปแบบนี้ จะได้งานที่ดีกว่า วิธีการทำงานแบบนี้ แม้จะวาดรูปมาหลายปีแล้ว คุณนาระเรียกว่าเป็นการทำงานแบบอ้อม แต่ประสบการณ์การทำงานแบบนี้ละที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเขา
จริง ๆ ถ้ามีขั้นตอนชัดเจน รู้ว่าจะทำอะไร งานก็จะเสร็จเร็วกว่า แต่การที่ได้ทดลอง ได้สงสัย น่าจะได้อะไรที่ดีกว่า


การทำลายกำแพงที่เราสร้างเสร็จแล้ว 

“ผมไม่สามารถวาดภาพแบบนี้ได้ทุกวัน” คุณนาระหมายถึงภาพผลงานบางส่วนที่นำมาให้ดูประกอบการบรรยาย

ดังนั้น วันไหนที่เขารู้สึกดี ทำงานได้ พอวาดรูปเสร็จไปแล้ว 1 ชิ้น เขาจะเลือกรูปที่วาดเสร็จแล้วแต่ยังไม่ดีพอ เอามาลบแล้ววาดทับใหม่อีก 1 ชิ้น

ภาพที่เขารู้สึกอายจนต้องวาดทับนั้น เราอาจจะเห็นว่าดูโอเคอยู่แล้ว หรือถ้าคิดจะขายก็มีแกลเลอรี่ที่อยากได้ แต่เขารู้สึกว่ามันยังไม่ใช่…
อะไรที่เราไม่ชอบ เราก็ไม่อยากให้คนอื่นดู
ผลงานหลาย ๆ ชิ้นของคุณนาระมีที่มาที่ไปแบบนี้ และรูปใหม่ก็ออกมาดูดีกว่ารูปเดิมที่ถูกวาดทับไป (มาก) จริง ๆ ด้วย เขาบอกว่างานแบบรูปที่ลบไป เมื่อไหร่ก็วาดได้ แต่งานแบบรูปที่วาดใหม่ ไม่ได้วาดได้ตลอด ต้องมีการทดลองดู ไขว่คว้าดู
บางทีมันเหมือนมีพลังบางอย่างช่วยให้วาดได้...การลบสิ่งที่สำเร็จไปแล้ว นั่นคือกระบวนการที่สำคัญ เหมือนการทำลายกำแพงของเราที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้วรอบหนึ่งลง

ที่หลายคนบอกว่าภาพของคุณนาระเหมือนมีพลังงานบางอย่าง...ก็คงมาจากการทำลายกำแพงทิ้งนี่เอง


Can't Wait 'til the Night Comes หนึ่งในผลงานที่คุณนาระวาดทับลงไปบนภาพอื่น
(จากหนังสือ YOSHITOMO NARA SELF-SELECTED WORKS  PAINTINGS)


วาดผมยากกว่าวาดตา

หลายคนที่เห็นรายละเอียดของดวงตาในงานหลาย ๆ ชิ้นของคุณนาระ คงคิดเหมือนกันว่าน่าจะวาดยาก สิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจคือ เขาบอกว่าดวงตาค่อนข้างจะวาดง่าย ใช้เวลาไม่นาน แต่รายละเอียดตรงปอยผมค่อนข้างที่จะวาดยากกว่า บางภาพเขาตัดสินใจไม่ได้จริง ๆ ว่าควรแสกผมไปทางด้านไหน นั่นก็เพราะปอยผมเป็นเรื่องของรูปลักษณ์ ไม่ใช่ความคิด (เลยวาดยากกว่า)


After the Acid Rain หนึ่งในภาพที่คุณนาระต้องใช้เวลานานในการตัดสินใจเรื่องปอยผม
(จากหนังสือ YOSHITOMO NARA SELF-SELECTED WORKS  PAINTINGS)


เงินไม่ใช่ประเด็นหลัก

คุณนาระพูดย้ำหลายครั้งว่าวาดภาพเพราะอยากวาด ไม่เกี่ยวกับเงิน และไม่สามารถวาดภาพตามที่มีคนสั่งหรือขอซื้อมาได้ด้วย ยกเว้นจะมีหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำและมีอยู่ในใจอยู่แล้ว อย่างเช่นเรื่องสันติภาพหรือการต่อต้านสงคราม แบบนั้นเขาจะวาดได้โดยไม่ฝืนธรรมชาติของตัวเอง แต่ก็นั่นละ ทุกวันนี้ในวงการประมูลงานศิลปะ ผลงานของคุณนาระมีมูลค่าสูงลิ่ว บางชิ้นสูงถึง 8 หลักเลยทีเดียว!



งานบรรยายคราวนี้คุณนาระบอกว่าตั้งใจจะทำลายภาพจำที่ว่าเขาเป็นคนญี่ปุ่น และเป็นคนที่วาดรูปเด็กผู้หญิงที่น่ารัก แต่รวม ๆ แล้วมีอีกหลายส่วนที่ทำให้เราต้องกลับมามองเขาในมุมใหม่...และถึงเจ้าตัวจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่ศิลปิน แต่ตัวตนของเขานี่ละที่ทำให้เราอดคิดในใจไม่ได้ว่าไม่ ’ติสต์  ก็คงจะคิดและทำแบบนี้ไม่ได้หรอกนะ ^^'

================================================
เรื่องราวบางส่วนจากการบรรยายและตอบคำถามของ โยชิโตโม นาระ ในกิจกรรม BAB Talk ครั้งที่ 5 โดย Bangkok Art Biennale ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (สามารถชมคลิปการบรรยายแบบเต็ม ๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/bkkartbiennale/videos/939738776196025/)


Comments

>>Popular this week!