เรื่องของเป็ดเทศ กับเป็ดบ้าน (Ahiru to Kamo no Coin Locker) 

アヒルと鴨のコインロッカー (Ahiru to Kamo no Coin Locker) 
เป็นหนังที่มีชื่อยาวและแปลกดี
ถ้าแปลเป็นภาษาไทยแบบดิบ ๆ จะออกมาได้ว่า
ตู้ล็อกเกอร์แบบหยอดเหรียญของเป็ดบ้านและเป็ดเทศ*
ซึ่งเมื่อดูไปจนถึงตอบจบ ก็จะเข้าใจความหมายของชื่อเรื่องได้ครบทุกคีย์เวิร์ดเลย

เอตะ กับ Gaku Hamada

เรื่องราวช่วงแรกของหนัง เหมือนจะเล่าเรื่องไม่เป็นเรื่องของตัวละครหลัก ๆ ไม่กี่ตัว ไม่ว่าจะหนุ่มนักศึกษาคนซื่อจากโตเกียวที่เดินทางไปเรียนมหาวิทยาลัยที่ต่างจังหวัด ชายหนุ่มแปลกและห่ามชื่อคาวาซากิ สาวสวยชื่อโคโตมิ และคนภูฐาน ภายในฉากซ้ำ ๆ อย่างอพาร์ทเม้นต์ มหาวิทยาลัย รวมไปถึงปฏิบัติการเพี้ยน ๆ อย่างการขโมยพจนานุกรมจากร้านหนังสือ!!! แต่ครึ่งหลังของหนังกลายเป็นเรื่องราวที่พลิกไปแบบเหนือความคาดหมาย ชนิดดูอยู่ดี ๆ แทบจะตกเก้าอี้กันเลยทีเดียว...

การอำและพรางที่ถูกจังหวะ เป็นความฉลาดในการเล่าเรื่องของหนังเรื่องนี้ และทำให้หนังดูสนุกได้มากกว่า 1 รอบ เพราะอยากกลับไปดูซ้ำ เพื่อหาร่องรอยที่เค้าบอกใบ้ทิ้งไว้ (แต่ทำไมเราสังเกตไม่เห็นตั้งแต่แรกนะ) แต่นอกจากความสนุกแบบไม่ต้องคิดมากแล้ว หนังยังมีประเด็นลึก ๆ ชวนคิดอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะหน้าตาของ ‘เป็ดบ้าน’ ในเรื่องที่ดูเหมือน ‘เป็ดเทศ’ มากกว่า หรือการเคลื่อนที่ของตัวละคร จากเมืองหลวงสู่ต่างจังหวัด-จากต่างประเทศสู่ญี่ปุ่น หรือแม้แต่การเปลี่ยนจากสิ่งที่เคยเป็น ไปเป็นอย่างอื่น (?!) ...แต่จะไม่คิด หรือคิดไม่ออก (เหมือนกัน-ฮา) ก็คงไม่เป็นไรหรอก ;)

นักแสดงที่รับบทเด่นที่สุดในเรื่องนี้คือเอตะ ซึ่งดูดีกับทุกบทบาทในเรื่องนี้ ส่วนคนที่มองข้ามไม่ได้ แถมขโมยความสนใจจากคนดูไปได้มาก ๆ อีกคน ก็คือ คนภูฐานในตอนต้นเรื่อง ... นี่ถ้าไม่ได้คนนี้มาเล่น หนังคงไม่ประสบความสำเร็จ (ในการเล่าเรื่อง) ได้มากขนาดนี้แน่

แต่ที่หาหนังเรื่องนี้มาดู เป็นเพราะนักแสดงคนนี้ต่างหาก...


เสียดายที่ออกไม่กี่ฉาก แต่ก็ยังคงเครื่องหมายการค้าแบบที่แฟน ๆ คุ้นเคยเป็นอย่างดี นั่นคือ cool, tough, not-of-this-world thing (ฮา) แบบที่นักวิจารณ์ใน Japan Times Online เขียนถึงเอาไว้ในบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้

* เป็ดบ้านในที่นี้คือเป็ดท้องถิ่นของญี่ปุ่น (ไม่ใช่เป็ดที่เลี้ยงตามบ้าน แบบ ‘ไก่บ้าน’ ในภาษาไทย) ...ตัวละครในเรื่องตั้งคำถามว่า ทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีคำเรียกเป็ดถึงสองคำ คือ かも(kamo) หรือ เป็ดเทศ กับ あひる(ahiru) หรือ เป็ดบ้าน ทั้ง ๆ ที่เป็นเป็ดด้วยกันทั้งคู่...แต่ก็เรียกไม่เหมือนกัน

บางทีนี่อาจจะเกี่ยวกับคอนเซ็ปต์เรื่อง ‘ข้างใน’ และ ‘ข้างนอก’ ของคนญี่ปุ่นก็ได้ เพราะมีหลาย ๆ คำในภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เรียกสิ่งที่อยู่ ‘ข้างใน’ และ ‘ข้างนอก’ ตามมุมมองของผู้พูด ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิ่งเดียวกันแต่ก็จะเรียกให้ไม่เหมือนกันซะงั้น...เป็น sense ทางภาษาที่แปลก ๆ ดีเหมือนกัน

Comments

Poy said…
เพิ่งจะดูจบเมื่อกี้ค่ะ แต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ พูดง่าย ๆ ก็คือจบแบบงง ๆ เหมือนพอจะเข้าใจ แต่ก็เหมือนค้างคา ขาดอะไรไปบางอย่าง เลยอยากได้ข้อมูลหรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากคนที่เคยดู แหะ ๆ
= เรื่องของเป็ดเทศกับเป็ดบ้าน (ประเด็นนี้ตอนแรกก็งง ๆ กับชื่อ ชีน่า พยายามคิดว่าเป็น ชินะ แต่ว่าดูย้ำ ๆ ก็ออกเสียงชีน่าจริง ๆ ซึ่งชีน่าก็ไม่ใช่ชื่อญี่ปุ่น แต่พอดูจนจบก็เข้าใจ ว่า...อ้อ แบบนี้นี่เอง ^^")
= คำพูดทิ้งท้ายที่ดอร์จิพูดกับเรย์โกะในตอนสุดท้าย กับ คำพูดที่ชินะพูดกับดอร์จิก่อนจะแยกจากกันในตอนจบ เป็นการให้คำตอบแบบไม่ชัดเจนทั้งคู่ คาดว่าน่าจะสื่ออะไรบางอย่าง เดี๋ยวต้องกลับไปดู แล้วก็คิดใหม่)
= การผูกเรื่องที่ซับซ้อนวนไปวนมาในตอนแรก กับตอนจบ

อ่า...ยังงง ๆ อีกหลายประเด็น สงสัยคงต้องกลับไปดูอีกหลาย ๆ รอบซะแล้ววววว อิ อิ
LonelyTurtle said…
ตอนจบ...เหมือนจะจงใจปล่อยค้าง ๆ ไว้แบบนั้นเองมั้งคะ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวละครจะตัดสินใจยังไงต่อ แต่ยังดีหน่อยที่รู้แล้วว่าตู้ล็อกเกอร์ในชื่อเรื่องมาจากไหน และก็ "พระเจ้า" ด้วย^^

ขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนกันนะคะ ^^ คือว่าตอนนี้จำรายละเอียดไม่ค่อยได้ซะแล้วด้วยสิ แต่ว่าเรื่องชื่อตัวละคร เช็กดูแล้วค่ะ ชื่อ Shiina เลยออกเสียงยาวเป็น "ชีนะ" นั่นเอง

หลังจากทดลองเอาหนังไปให้หลาย ๆ คนดู เค้าบอกว่าเรื่องนี้สนุกดีค่ะ (หลอกเก่งมาก)