ทดลองเป็น Densha Otaku: Yamanote X Keihin-Tohoku รถไฟรางคู่ (ขนาน)



รถไฟสีเขียวxรถไฟสีฟ้า

รถไฟสายหลักในโตเกียวที่รู้กันว่าขึ้นแล้วไม่มีหลงทางเพราะมูฟเป็นวงกลม  คือสายยามาโนเตะ (Yamanote Line) หรือสายสีเขียวอ่อน แต่ยังมีรถไฟอีกสายที่คล้าย ๆ กัน มีเส้นทางบางส่วนซ้อนกัน รางก็อยู่ข้างกัน จอดสถานีเหมือนกัน และบางทีก็มีตารางเวลาตรงกัน จนเกิดปรากฏการณ์วิ่งคู่กันไปบนรางบ่อย ๆ!


Yamanote Line
Yamanote Line สีประจำสายคือสีเขียวอ่อน (Yellow Green) 

ตอนไปเที่ยวโตเกียวหนล่าสุดเราจองที่พักตรงสถานีนิปโปริ (Nippori) กะว่าคงจะได้ใช้สายยามาโนเตะเป็นหลัก แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ค้นพบรถไฟทางเลือกอีกสาย คือ สายเคฮิงโทโฮคุ (Keihin-Tohoku Line) หรือสายสีฟ้า ซึ่งที่สถานีนิปโปริจะใช้แพลตฟอร์มเดียวกับสายสีเขียวเลย...ฝั่งนึงเป็น track ของสีเขียว อีกฝั่งนึงเป็น track ของสีฟ้า...เลยกลายเป็นว่าได้ใช้รถไฟ 2 สายนี้สลับกันไป


Keihin-Tohoku Line
Keihin-Tohoku Line สีประจำสายคือสีฟ้า (Sky Blue)




Nippori Station
ที่สถานี Nippori ออกแบบให้รถสีเขียวและสีฟ้าที่วิ่งไปทิศทางเดียวกันใช้แพลตฟอร์มเดียวกัน



รถสาย Keihin-Tohoku ไม่ได้วิ่งเป็นวงกลมอยู่แค่ในเมืองแบบสายสีเขียว ทางทิศเหนือรถวิ่งทะลุไปถึงจังหวัดข้างเคียงอย่างไซตามะ ส่วนทิศใต้วิ่งยาวไปถึงสถานี Yokohama ในจังหวัดคานางาวะ ซึ่งช่วงที่ผ่านโตเกียว คือตั้งแต่สถานี Tabata ถึงสถานี Shinagawa (ซึ่งเป็นด้านขวาของวงกลมของรถไฟสายสีเขียว) รางของสายสีฟ้าจะอยู่ข้าง ๆ รางของสายเขียวเลย  แถมรถไฟทั้ง 2 สายจะจอดตามสถานีเหมือนกันแบบเป๊ะ ๆ ด้วย...ถ้าเดินทางอยู่ในช่วงสถานีที่ว่า จะขึ้นสายไหนก็ไปได้เหมือนกัน ยกเว้นช่วง 10.30 - 15.30 และวันหยุดที่สายสีฟ้าจะ skip บางสถานีไป*


*ข้อควรระวังสำหรับการขึ้นรถสีฟ้าคือ ช่วง 10.30 - 15.30 รถไฟธรรมดา (Local) สายเคฮิงโทโฮคุจะกลายเป็นรถเร็ว (Rapid) ที่ไม่จอดทุกสถานี และในวันหยุดก็จะไม่จอดบางสถานีด้วย  




Parallel Section of JY and JK
ช่วงคู่ขนานของรถไฟสีเขียวกับรถไฟสีฟ้า



京浜東北線 x 山手線 รถไฟคู่จิ้น?

ในหลายสถานีจะให้รถไฟ 2 สายนี้แชร์แพลตฟอร์มกันเหมือนที่สถานีนิปโปริล่ะ ถ้าเจอแพลตฟอร์มแบบนี้ และเดินทางในช่วงที่รางคู่กัน รถขบวนไหนมาก่อนเราก็จะเลือกขึ้นขบวนนั้น 

แต่ก็มีหนนึงที่ไม่รู้จะขึ้นขบวนไหนดี เพราะสีเขียวกับสีฟ้าวิ่งมาถึงเวลาเดียวกันเป๊ะ! แถมรถยังออกจากสถานีพร้อมกัน แล้ววิ่งคู่กันไปแบบนั้นเลย (นี่มันทฤษฎีสัมพัทธภาพชัด ๆ) ตอนรถออกตัวให้ฟีลเหมือนกำลังแข่งกับอีกขบวนทำไมก็ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่ก็ไปถึงสถานีข้างหน้าพร้อมกันแหละ)   

🎞 สภาพเหมือนคลิปนี้ที่มีคนถ่ายไว้เป๊ะเลย รถสาย Yamanote ที่วิ่งคู่กันไปกับ สาย Keihin-Tohoku https://youtu.be/tuJxYpyEzvs



(2006) ที่สถานี Ueno สีฟ้าและสีเขียวก็ใช้แพลตฟอร์มเดียวกัน


Island Platform
ชานชาลาแบบเกาะกลาง เลือกขึ้นรถฝั่งไหนก็ได้


สำหรับคนที่อยู่ในโตเกียวคงจะเห็นจนเป็นเรื่องธรรมดาแล้วมั้ง แต่นักท่องเที่ยวแบบเรารู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่สนุกดี  แถมเจอแบบบังเอิญ ๆ ด้วยเลยยิ่งตื่นเต้น ตอนประตูรถไฟจะปิด จะได้ยินเสียงประกาศบนชานชาลาพร้อมกันด้วยนะ แต่เค้าก็ช่างคิดแหละว่าเดี๋ยวผู้โดยสารจะสับสน เลยออกแบบให้เสียงของรางนึงเป็นเสียงผู้ชาย อีกรางเป็นเสียงผู้หญิง** … เอ่อ สงสัยจัง เคยมีใครจิ้นรถไฟคู่นี้มั้ยนะ? 



**เพื่อกันความสับสน ได้ยินว่าตามชานชาลาอื่น ๆ ก็จะแยกเป็นเสียงผู้ชายกับผู้หญิงแบบนี้เหมือนกันแหละ แต่เราเพิ่งรู้สึกตอนรถไฟมันวิ่งมาพร้อมกัน...ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นที่ขึ้นรถเป็นประจำสามารถรู้ว่ารถขบวนไหนกำลังจะเข้าสถานี ตั้งแต่ยังลงไปไม่ถึงชานชาลาด้วยซ้ำ ก็จากเสียงประกาศผู้ชายหรือผู้หญิงที่ได้ยินนี่ละ  


รถไฟในนิยาย

ความแฝดพี่-แฝดน้องของรถไฟสองสายนี้ มันน่าสนใจจนนักเขียนอดเอาไปเขียนถึงไม่ได้ อย่างนิยายเรื่อง รักในโลกพิศวง (パラレルワールド・ラブストーリー) ของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ ก็เปิดเรื่องด้วยฉากบนรถไฟสายยามาโนเตะ ที่ตัวละครชายจะมองเห็นหญิงสาวคนเดิมในรถไฟสายเคฮิงโทโฮคุที่วิ่งคู่กันไปเป็นประจำ ... เรื่องนี้ทำเป็นหนังแล้วด้วย ชื่อ Parallel World Love Story มีฉากที่ได้เห็นรถไฟวิ่งคู่กันในหลายมุมซึ่งปกติเราไม่สามารถจะเห็นได้


ภาพรถไฟที่วิ่งคู่กันในหนัง Parallel World Love Story


อีกเล่มใช้คาแรกเตอร์ของรถไฟ 2 สายที่เหมือนวิ่งแข่งกันไปบนราง เป็นฉากในการไล่ล่าของตัวละคร ในนิยายเรื่อง Lost Train (ロスト・トレイン) ของ Gen Nakamura คือในกรณีของรถไฟ 2 สายนี้ แม้จำนวนสถานีที่จอดจะเท่ากัน รถแต่ละเที่ยวก็ไม่ได้ใช้เวลาวิ่งเท่ากัน และรถไฟขบวนที่วิ่งออกไปก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไปถึงสถานีข้างหน้าเร็วกว่า???


🎞รถที่ออกเวลาเดียวกัน แต่ไปถึงไม่พร้อมกัน เป็นแบบคลิปนี้  https://youtu.be/w5cbjuuiV-A คนถ่ายคลิปขึ้นรถไฟที่ออกจากจากสถานี Shinagawa พร้อม ๆ กับรถไฟอีกขบวน ไปจนถึงสถานี Tabata ความพิเศษคือมุมกล้องที่เหมือนเรานั่งอยู่ในห้องคนขับรถไฟ  และมีบางสถานีที่เขาเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟอีกขบวนด้วย 


Fun facts ของรถไฟคู่ขนาน

ถ้าอย่างนั้น สายไหนวิ่งเร็วกว่ากันล่ะ? มีคนญี่ปุ่นสงสัยด้วยล่ะว่า ควรตัดสินใจขึ้นรถขบวนไหน ถึงจะไปถีงที่หมายได้เร็วกว่า 


เมื่อปี 2017 Toyo Keizai Online เคยเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรถสีเขียวและสีฟ้าในช่วงที่วิ่งคู่กันให้แบบละเอียดยิบสรุปแล้วสายไหนวิ่งเร็วกว่ากัน? (ซึ่งแต่ละช่วงเวลา คำตอบก็ไม่เท่ากันด้วยนะ), ค่าเฉลี่ยของเวลาที่ใช้เดินทางของแต่ละสายคือกี่นาที (อยู่ในช่วง 26-27 นาที), มีรถกี่เที่ยวที่ใช้เวลาวิ่งเท่ากันเป๊ะ ฯลฯ … การเก็บสถิติอะไรแบบนี้ช่างสมกับเป็นคนญี่ปุ่นจริง ๆ


นักเขียนของ Toyo Keizai สรุปว่า ในจำนวนรถไฟสายสีเขียวและสีฟ้า 60 กว่าขบวนที่ออกจากสถานี Shinagawa เวลาเดียวกัน มีประมาณครึ่งเดียวเท่านั้น (ประมาณ 32 ขบวน) ที่ใช้เวลาวิ่งเท่ากันและไปถึงสถานี Tabata พร้อมกัน   ส่วนขาที่วิ่งจาก Tabata ลงมา Shinagawa ด้วยเวลาเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบยิ่งมีน้อยกว่านั้นอีก (คือไม่ถึง 20 ขบวน) 


ไม่แน่ใจว่าปี 2023 ข้อมูลล่าสุดยังใช่แบบนี้มั้ย แต่ยังมีขบวนที่วิ่งคู่กันไปอยู่แน่ ๆ อย่างรอบที่เราเจอแบบฟลุก ๆ เหมือนถูกหวย จะเป็นขบวนตอน 19.59 จากสถานีอุเอโนะ ไปสถานีนิปโปริ  ถ้าใครไปโตเกียวแล้วอยากมีประสบการณ์ขึ้นรถไฟคู่ขนานก็ลองหาข้อมูลดูได้ว่ามีช่วงไหนบ้างที่รถมาเวลาเดียวกันพอดีแบบนี้


ขบวนรถคู่ขนาน รอบ 19.59





Links: 

Keihin–Tōhoku Line  (Wikipedia)

Toyo Keizai: What is the fastest train on the Yamanote Line and the Keihin-Tohoku Line "Parallel Section"?




Comments