Ukiyo-e Destination : Prologue

ความสนใจภาพอุคิโยะเอะของเราเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ คือโปสการ์ด 1 ใบ...


ข้างหลังโปสการ์ด
ภาพอุคิโยะเอะ/Ukiyo-e (Japanese Woodblock Print) คือภาพพิมพ์ญี่ปุ่นที่พิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์เมื่อหลายร้อยปีก่อน วันหนึ่งเราได้รับโปสการ์ดจากเพื่อนร่วมงานที่ไปญี่ปุ่น เป็นภาพภูเขาไฟฟูจิสีแดง ข้างหลังบอกว่าเป็นภาพในชุด Thirty Six Views of Mount Fuji ของศิลปินชื่อ Hokusai ...ศิลปินที่มีชีวิตอยู่เมื่อเกือบสองร้อยปีมาแล้ว!!! [1]


ภาพ Red Fuji  หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า View of Mount Fuji on a Fine Breezy Day


เราชอบการใช้สีจัด ตัดกัน องค์ประกอบภาพก็เรียบง่าย และได้ความรู้สึกวินเทจของภาพนี้ ไป ๆ มา ๆ เลยชอบศิลปินไปด้วย จนหาหนังสือเกี่ยว Hokusai มาอ่าน จนหารูปฟูจิแดงมาติดฝาบ้าน [2] และจนวันหนึ่งก็พาตัวเองไปพิพิธภัณฑ์ Sumida Hokusai Museum (โชคดีไปตรงกับช่วงที่มีนิทรรศการ Hokusai X Mount. Fuji พอดีอีก)…ตอนนั้นก็คิดว่า ‘ชีวิตติ่งคอมพลีท’ ละ 😆



Sumida Hokusai Museum
(เจอขวดน้ำรูป Red Fuji โดยบังเอิญ...เลยพามามิวเซียมด้วยกัน^^)


หนังสือเกี่ยวกับ Hokusai ที่เป็นภาษาไทย รูปแบบเหมือนหนังสือญี่ปุ่นที่พิมพ์ด้วยบล็อกไม้ คือพิมพ์บนกระดาษแค่ด้านเดียวแล้วพับครึ่ง ก่อนนำไปเข้าเล่ม


กลับจากพิพิธภัณฑ์ของ Hokusai ในโตเกียวได้ไม่กี่เดือน ก็มีนิทรรศการ Manga Hokusai Manga มาให้ดูถึงในกรุงเทพฯ...ดูนิทรรศการจบได้เมนเพิ่มอีกคนซะงั้น เพราะตกหลุมรักงานของศิลปินคนหนึ่งที่เค้าเลือกมาจัดแสดงด้วย [3]


ปลาทอง ศิลปินผู้มาก่อนกาล และแมว
ผลงานของ Utagawa Kuniyoshi ในนิทรรศการ Manga Hokusai Manga (โดยเฉพาะภาพเซ็ตปลาทองที่ทำท่าทางเหมือนมนุษย์) มันดูล้ำ แล้วก็สนุกมาก แถมอิมเมจของศิลปินที่เป็นทาสแมว ที่เค้านำภาพจากมังงะเรื่องนึงมาประกอบก็น่ารักสุด ๆ 


ภาพจากซีรีส์ Gold Fish 



Utagawa Kuniyoshi
คุนิโยชิเวอร์ชั่นการ์ตูน...ที่วาดให้ใส่แมวไว้ในเสื้อแบบนี้ ก็คือนำมาจากตัวตนจริง ๆ ของศิลปิน



จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากงานนั้น ทำให้กลับมาหาข้อมูลต่อ แล้วก็หาหนังสือเกี่ยวกับ Kuniyoshi มาอ่าน เป็นเอามากถึงขนาดไปหาซื้อการ์ตูนเล่มนั้นมาจนได้ นี่ละน้า~ วงจรชีวิตของติ่ง 


การ์ตูน BL ตาหวานเรื่อง  当世浮世絵類考猫舌ごころも恋のうち ของ Sakura Sawa มีตัวละครเป็นศิลปินอุคิโยะเอะชื่อดังหลายคนเลย ส่วนเล่มข้าง ๆ คือหนังสือ Cats in Ukiyo-e : Japanese Woodblock Print of Utagawa Kuniyoshi



หนังสือเกี่ยวกับ Kuniyoshi ที่ห้องสมุด TCDC



ยิ่งดูเยอะ อ่านเยอะ ยิ่งชอบมากขึ้น ๆ 
และแล้วสิ่งที่เรากลัวก็เกิดขึ้นจนได้...
มันคือความคิดแว้บ ๆ ว่าถ้าได้ไปดูนิทรรศการของ Kuniyoshi สักครั้งในชีวิตก็คงดี (มันมาอีกละภารกิจติ่ง 😅) ละถ้าได้ดูภาพจริง ๆ ก็คงจะยิ่งฟิน เพราะภาพที่ได้ดูในนิทรรศการที่กรุงเทพฯ เป็นงาน digital print  แต่น่าเสียดาย (หรือโชคดีก็ไม่รู้ละ) ที่นิทรรศการของศิลปินท่านนี้หลายงานได้จัดไปแล้ว-จบไปแล้ว แถมในช่วงปีนั้นและปีต่อมาไม่มีนิทรรศการเกี่ยวกับเขาโดยเฉพาะเลย (แบบนี้ค่อยมีเวลาเก็บเงินหน่อย 55)


การเดินทางตามปฏิทินของมิวเซียม 
Kuniyoshi ไม่มีมิวเซียมเฉพาะเหมือนศิลปินอย่าง Hokusai หรือ Hiroshige เราเลยต้องสุ่มดูโปรแกรมจากมิวเซียมที่มักจะจัดงานแนว ๆ นี้ โชคดีที่มิวเซียมญี่ปุ่นเค้าจะมีตารางงานออกมาล่วงหน้าหลายเดือน แต่ต้องคอยส่องจากหน้าเว็บภาษาญี่ปุ่น เพราะจะอัปเดตไวกว่าภาษาอังกฤษ 

ต้นปี 2019  Ota Memorial Museum of Art ลงในเว็บว่าจะมีงานของ Kuniyoshi ตอนเดือนตุลาคมของปีนั้น!!!
แปลชื่องานไม่ออก แต่แค่เห็นชื่อศิลปินก็ตกลงกับตัวเองละว่าจะไป 
ระหว่างนั้นคิดโปรแกรมไปเรื่อย ๆ ว่าจะไปที่ไหนด้วยบ้าง 

ยิ่งคิดเล่น ๆ ก็ยิ่งสนุก ว่าถ้าทริปนี้เป็นธีมอุคิโยะเอะไปเลยก็น่าจะดี ...นอกจาก Ota Memorial Museum of Art ที่เป็นงานหลัก ก็ยังมีมีมิวเซียมอุคิโยะเอะในต่างจังหวัดที่เคยเล็งไว้ด้วย ทั้งที่มัตสึโมโตะ และ Obuse...สุดท้าย โปรแกรมมันไปกันใหญ่กว่าที่เราคิดไว้ตอนแรกมาก เพราะเป็นปีครบรอบ 170 ปี ที่ Hokusai จากไป เลยได้ไปมิวเซียมที่ Ryogoku ซ้ำอีกรอบ แถมได้ไปย่านร้านหนังสือที่มีภาพอุคิโยะเอะขายอีก 

การเดินทาง บางทีมันก็เริ่มต้นจากภาพภาพเดียวจริง ๆ นะ
つづく



ตอนนั้นน่ะมัวแต่คิดถึงอนาคตก็เลยลืมอดีต
จริง ๆ แล้ว...สิบปีก่อน เราเคยไปดูนิทรรศการภาพพิมพ์อุคิโยะเอะที่มิวเซียมสยาม (แต่เพิ่งมานึกออกทีหลัง)
งานนั้นเค้าเอาภาพพิมพ์ของจริงจากญี่ปุ่นมาแสดงให้ดูเลย ไม่ใช่งานที่ถ่ายก๊อปปี้มา
แต่ว่าเป็นภาพในหมวดละครคาบุกิ ที่เราไม่ค่อยอินเท่าไหร่
บังเอิญว่าหนึ่งในภาพที่รู้สึกประทับใจจนต้องถ่ายรูปเก็บไว้คือภาพนี้...


Kyoganoko musume Dôjôji  (京鹿子娘道成寺)


สูจิบัตรงาน การสาธิตละครคาบูกิ และนิทรรศการภาพพิมพ์นิชิขิสมัยเอโดะ


มันคือการตกหลุมรักซ้ำ ๆ สินะ 😅

Footnote : 

Comments

>>Popular this week!